บุก True Digital Park โมเดลของการจัดการสิ่งแวดล้อม

บุก True Digital Park โมเดลของการจัดการสิ่งแวดล้อม

Community mall กลางกรุงฯ ย่านสุขุมวิท True digital park ที่ให้ความสำคัญด้านนโยบาย Green Economy หนึ่งในนั้น คือ เครื่องกำจัดขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยภายใน 24 ชั่วโมง

ทำไม ภาคธุรกิจต้องคำนึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ? 

รัฐบาลตั้งเป้าภายในปี 2065 จะบรรลุเป้าหมายการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ ซึ่ง  พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ที่กล่าวในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อ 1 พ.ย. 2564 การประกาศท่าทีนี้ ถือเป็นหนึ่งในหมุดหมายที่ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และธุรกิจภาคเอกชน ก็เริ่มดำเนินการตามนโยบายและเจตนารมณ์ของรัฐบาล ตามกติกาสากลของโลก

โครงการ True Digital Park บริหารโดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมา องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้ให้การรับรองในเรื่องของการประหยัดพลังงาน การกำจัดขยะอย่างถูกต้อง การแยกประเภทขยะ รวมถึงการจัดการขยะเศษอาหาร คิดเป็นตัวเลข  500 กว่าคาร์บอนเครดิต และยังได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 7 โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ จากกระทรวงพลังงานร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย เพื่อเดินหน้าพัฒนาโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ เชื่อมโยงการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ (Smart Cities – Clean Energy)

จาก “ขยะ” เป็น “ปุ๋ย” ภายใน 24 ชั่วโมง

คุณณัฐกานต์ คลอวุฒิอนันต์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องกำจัดขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยภายใน 24 ชั่วโมง เผยว่าภาคธุรกิจเอกชน ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยปัญหาเรื่องขยะก็ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เป็นตัวการในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก โดยเฉพาะก๊าซมีเทน ซึ่งมีความหนาแน่นมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ธรรมชาติถึง 27 เท่า

การติดตั้งเครื่องกำจัดขยะเศษอาหารในภาคธุรกิจสามารถช่วยวัดผลได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม หนึ่งในพื้นที่ที่นำเทคโนโลยีของโอ๊คลินมาช่วยจัดการ คือ ในพื้นที่โครงการ True Digital Park ซึ่งเป็น Community mall ย่านสุขุมวิท กทม.

ผู้จัดการบริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด เน้นย้ำว่า สาเหตุที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม นอกจากจะเป็นวาระความยั่งยืนของทั่วโลกแล้ว ปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ นักลงทุน และภาคประชาชนเอง จะเริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องมองหาการลงทุนในธุรกิจที่ให้ผลแทนที่ดี และมีนโยบายด้านสิ่งเวดล้อมควบคู่ไปด้วย

ส่องแผนบริหารจัดการก๊าซกระจกของไทย 

จากที่กล่าวไป รัฐบาลตั้งเป้าภายในปี 2065 จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ  อีกด้านหนึ่งข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ระบุว่า แม้วันนี้ (24 ม.ค.66) จะยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ภาคธุรกิจเอกชนต้องปฏิบัติตามมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก แต่ในปี 2566 รัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังเร่งจัดทำ(ร่าง)พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ร.บ.โลกร้อน)  เพื่อเสนอต่อรัฐสภาภายในปี 2566

ระหว่างนี้รัฐบาลใช้วิธีขอความร่วมมือและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้ใช้แนวคิด ESG ย่อมาจาก Environmental (สิ่งแวดล้อม), social (สังคม) , and governance  (ธรรมาภิบาล) หมายถึง แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นการช่วยดูแลประเด็นพื้นฐานใน 3 มิติ

ด้าน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO ได้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ โครงการ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ซึ่งเป็นกลไกที่ให้การรับรองคาร์บอนเครดิต ที่สามารถนำไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดประชุม/สัมมนา งานอีเวนท์ และบุคคล

ปัจจุบันมีโครงการที่ได้รับขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER ทั้งสิ้น 319 โครงการ และในจำนวนนี้ TGO ได้ให้การรับรองคาร์บอนเครดิต หรือ คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงจากโครงการเหล่านี้ 13,975,436 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจาก 141 โครงการ (จากการรับรอง 274 ครั้ง)

โดยประเภทของโครงการที่ได้รับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกในโครงการ T-VER ได้แก่ การพัฒนาพลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การจัดการขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลและวัสดุเหลือใช้ พลังงานทดแทนจากการจัดการของเสีย การจัดการในภาคขนส่ง ป่าไม้และพื้นที่สีเขียว การเกษตร และอื่นๆ

Top