กทม. เปิดตัว BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญ “ไม่เทรวม”

กทม. เปิดตัว BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญ “ไม่เทรวม”

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า งาน “BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม” เป็นการแสดงเจตจำนงขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดการขยะที่ต้นทางผ่านเครือข่าย BKK Zero Waste หรือเป็นเฟส 2 ของโครงการไม่เทรวม

*แยกขยะ ลดภาระงบประมาณ

ปัจจุบัน กทม. ใช้งบประมาณในการกำจัดขยะอยู่ที่ราว 7,000-8,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากเมื่อเทียบกับงบประมาณด้านสาธารณสุขที่ 6,000 ล้านบาท และด้านการศึกษา 4,000 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าการจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะสามารถนำงบประมาณไปเพิ่มเติมในส่วนอื่นๆ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้

ทั้งนี้ หน้าที่ของกทม. คือ ทำงานให้เป็นระบบ ออกระเบียบให้ชัดเจน และมีการส่งเสริม รณรงค์ แต่ประชาชนก็ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เนื่องจากการจัดการขยะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ และต้องมีความร่วมมือกับเครือข่าย เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้วคนกทม. ผลิตขยะวันละ 1.5 กิโลกรัม/คน หรือหนึ่งปีผลิตขยะ 800 กิโลกรัม/คน

นายชัชชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้คนแยกขยะมากขึ้น เช่น อาจมีส่วนลดให้ผู้ที่แยกขยะ แต่ต้องมีการตกผลึกว่าจะรู้ได้อย่างไร ระหว่างผู้ที่แยกขยะกับไม่แยกขยะ ซึ่งคณะกรรมการจะมีการหารือต่อไป นอกจากนี้ ผู้ที่สร้างขยะขนาดใหญ่ ถ้าหากยิ่งมีขยะจำนวนมากยิ่งต้องจ่ายแพง ก็จะเป็นอีกแรงจูงใจให้ผู้ผลิตขยะแยกขยะมากขึ้น และลดการส่งขยะให้กทม. ได้

*เดินหน้าเฟส 2 ขอความร่วมมือหน่วยงานแยกขยะ

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปริมาณขยะของกทม. ในปี 65 เฉลี่ยอยู่ที่ 8,979 ตัน/วัน หรือ 3,270,000 ล้านตัน/ปี ด้านสำนักสิ่งแวดล้อม รายงานสัดส่วนขยะ พบว่า 55% เป็นขยะอินทรีย์ ซึ่งยังมีการจัดการที่ไม่ครบถ้วน ดังนั้น จึงเกิดโครงการไม่เทรวม โดยได้เริ่มนำร่องมาตั้งแต่เดือนก.ย. 65 แบ่งเป็น 3 เฟส ดังนี้

  • เฟส 1 คือ ขอความร่วมมือประชาชนทั่วไป ให้แยกขยะเปียกและขยะแห้งออกจากกัน เพื่อนำขยะแห้งไปรีไซเคิล ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยเรื่องสุขภาพของเจ้าหน้าที่เก็บขยะด้วย โดยได้มีการเริ่มนำร่องที่ 3 เขตแรก ได้แก่ เขตพญาไท หนองแขม และปทุมวัน
  • เฟส 2 คือ ขอความร่วมมือองค์กรระดับกลางและขนาดใหญ่ เนื่องจากขยะส่วนใหญ่มาจากองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งในตลาด ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ออฟฟิศ และวัด ซึ่งในปี 66 มีหน่วยงานกว่า 700 องค์กร ใน 50 เขต เข้าร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการกำจัดขยะของกทม. ได้ และนำงบประมาณในส่วนนี้ไปใช้ด้านอื่น
  • เฟส 3 คือ ขอความร่วมมือสายสิ่งแวดล้อม ที่มีความสนใจอยากแยกขยะด้วยตนเอง โดยจะมีการส่งเสริมให้ความรู้ที่สำนักงานเขตกทม. ห้างสรรพสินค้า และปั๊มน้ำมัน
*ยก 3 เขตต้นแบบนำร่องแยกขยะ

นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยมีผลต่อทั้งเรื่องสุขภาพและโลก โดยเฉพาะสารพิษจากขยะ ซึ่งเรื่องขยะเป็นเรื่องที่ตระหนักมานาน แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งนี้ กทม. ต้องเป็นผู้ริเริ่มเนื่องจากเป็นจังหวัดที่ผลิตขยะมูลฝอยมากที่สุดในประเทศที่ 12,000 ตัน/วัน หรือคิดเป็น 18% ของขยะทั้งประเทศ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด คาดว่าขยะอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านตัน/ปี นอกจากนี้ ขยะจากอาหารของไทย 1 ใน 3 ถูกทิ้งเป็นขยะ และนำไปสู่การกำจัดที่ไม่เหมาะสม และสร้างมลพิษในเวลาต่อมา

“ลดขยะต้องลดตั้งแต่ต้นน้ำ ต้องมีการแยกขยะ เพื่อให้กระบวนการกลางน้ำ ปลายน้ำทำต่อไปได้ กทม. เริ่มที่ 3 เขต สสส. ได้เข้าไปประสานกับหน่วยงานต่างๆ เชื่อว่า 3 เขตได้สาธิตให้เห็นแล้วว่าเป็นนโยบายที่ทำได้ และจะเป็นต้นแบบให้ทั่วประเทศพัฒนางานต่อไป” นายสุปรีดา กล่าว

นายพันธวัช สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการนำร่องใน 3 เขต มีเป้าหมาย 4 ประเด็น คือ 1. การพัฒนารูปแบบการกำจัดขยะ ไม่เทรวม 2. การสร้าง Database ให้พื้นที่นำร่อง 33 เขต 3. การส่งเสริมพื้นที่ 84 แหล่ง ลดขยะที่ต้นทางให้ได้ไม่น้อยกว่า 20% และ 4. การสนับสนุนการจัดการขยะอินทรีย์โดยใช้หนอน

More Posts

บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด มอบวิตามินบำรุงพืช 2,300 กิโลกรัม ให้ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร สนับสนุนการพัฒนาสวนสาธารณะและเมืองสีเขียว พร้อมสนับสนุนนโยบาย ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด มอบวิตามินบำรุงพืช 2,300 กิโลกรัม ให้ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร สนับสนุนการพัฒนาสวนสาธารณะและเมืองสีเขียว พร้อมสนับสนุนนโยบาย ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

Send Us A Message

Top