นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า งาน “BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม” เป็นการแสดงเจตจำนงขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดการขยะที่ต้นทางผ่านเครือข่าย BKK Zero Waste หรือเป็นเฟส 2 ของโครงการไม่เทรวม
ปัจจุบัน กทม. ใช้งบประมาณในการกำจัดขยะอยู่ที่ราว 7,000-8,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากเมื่อเทียบกับงบประมาณด้านสาธารณสุขที่ 6,000 ล้านบาท และด้านการศึกษา 4,000 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าการจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะสามารถนำงบประมาณไปเพิ่มเติมในส่วนอื่นๆ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้
ทั้งนี้ หน้าที่ของกทม. คือ ทำงานให้เป็นระบบ ออกระเบียบให้ชัดเจน และมีการส่งเสริม รณรงค์ แต่ประชาชนก็ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เนื่องจากการจัดการขยะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ และต้องมีความร่วมมือกับเครือข่าย เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้วคนกทม. ผลิตขยะวันละ 1.5 กิโลกรัม/คน หรือหนึ่งปีผลิตขยะ 800 กิโลกรัม/คน
นายชัชชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้คนแยกขยะมากขึ้น เช่น อาจมีส่วนลดให้ผู้ที่แยกขยะ แต่ต้องมีการตกผลึกว่าจะรู้ได้อย่างไร ระหว่างผู้ที่แยกขยะกับไม่แยกขยะ ซึ่งคณะกรรมการจะมีการหารือต่อไป นอกจากนี้ ผู้ที่สร้างขยะขนาดใหญ่ ถ้าหากยิ่งมีขยะจำนวนมากยิ่งต้องจ่ายแพง ก็จะเป็นอีกแรงจูงใจให้ผู้ผลิตขยะแยกขยะมากขึ้น และลดการส่งขยะให้กทม. ได้
นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปริมาณขยะของกทม. ในปี 65 เฉลี่ยอยู่ที่ 8,979 ตัน/วัน หรือ 3,270,000 ล้านตัน/ปี ด้านสำนักสิ่งแวดล้อม รายงานสัดส่วนขยะ พบว่า 55% เป็นขยะอินทรีย์ ซึ่งยังมีการจัดการที่ไม่ครบถ้วน ดังนั้น จึงเกิดโครงการไม่เทรวม โดยได้เริ่มนำร่องมาตั้งแต่เดือนก.ย. 65 แบ่งเป็น 3 เฟส ดังนี้
- เฟส 1 คือ ขอความร่วมมือประชาชนทั่วไป ให้แยกขยะเปียกและขยะแห้งออกจากกัน เพื่อนำขยะแห้งไปรีไซเคิล ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยเรื่องสุขภาพของเจ้าหน้าที่เก็บขยะด้วย โดยได้มีการเริ่มนำร่องที่ 3 เขตแรก ได้แก่ เขตพญาไท หนองแขม และปทุมวัน
- เฟส 2 คือ ขอความร่วมมือองค์กรระดับกลางและขนาดใหญ่ เนื่องจากขยะส่วนใหญ่มาจากองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งในตลาด ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ออฟฟิศ และวัด ซึ่งในปี 66 มีหน่วยงานกว่า 700 องค์กร ใน 50 เขต เข้าร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการกำจัดขยะของกทม. ได้ และนำงบประมาณในส่วนนี้ไปใช้ด้านอื่น
- เฟส 3 คือ ขอความร่วมมือสายสิ่งแวดล้อม ที่มีความสนใจอยากแยกขยะด้วยตนเอง โดยจะมีการส่งเสริมให้ความรู้ที่สำนักงานเขตกทม. ห้างสรรพสินค้า และปั๊มน้ำมัน
นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยมีผลต่อทั้งเรื่องสุขภาพและโลก โดยเฉพาะสารพิษจากขยะ ซึ่งเรื่องขยะเป็นเรื่องที่ตระหนักมานาน แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งนี้ กทม. ต้องเป็นผู้ริเริ่มเนื่องจากเป็นจังหวัดที่ผลิตขยะมูลฝอยมากที่สุดในประเทศที่ 12,000 ตัน/วัน หรือคิดเป็น 18% ของขยะทั้งประเทศ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด คาดว่าขยะอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านตัน/ปี นอกจากนี้ ขยะจากอาหารของไทย 1 ใน 3 ถูกทิ้งเป็นขยะ และนำไปสู่การกำจัดที่ไม่เหมาะสม และสร้างมลพิษในเวลาต่อมา
“ลดขยะต้องลดตั้งแต่ต้นน้ำ ต้องมีการแยกขยะ เพื่อให้กระบวนการกลางน้ำ ปลายน้ำทำต่อไปได้ กทม. เริ่มที่ 3 เขต สสส. ได้เข้าไปประสานกับหน่วยงานต่างๆ เชื่อว่า 3 เขตได้สาธิตให้เห็นแล้วว่าเป็นนโยบายที่ทำได้ และจะเป็นต้นแบบให้ทั่วประเทศพัฒนางานต่อไป” นายสุปรีดา กล่าว
นายพันธวัช สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการนำร่องใน 3 เขต มีเป้าหมาย 4 ประเด็น คือ 1. การพัฒนารูปแบบการกำจัดขยะ ไม่เทรวม 2. การสร้าง Database ให้พื้นที่นำร่อง 33 เขต 3. การส่งเสริมพื้นที่ 84 แหล่ง ลดขยะที่ต้นทางให้ได้ไม่น้อยกว่า 20% และ 4. การสนับสนุนการจัดการขยะอินทรีย์โดยใช้หนอน